ดอกไม้เทศและดอกไม้ไทย
ต้น22.ช้างน้าว
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ชื่อสามัญ กาปิโด (ตราด) ช้างโน้ม(ปราจีนบุรี ท้องปลิง(ภาคใต้) หางกวางผู้ (อุบลราชธานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gomphia serrata (Gaertn.) Kanis
ชื่อวงศ์ OCHNACEAE
ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์
ในต่างประเทศ พบที่อินเดีย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา
ในประเทศไทย พบทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าสน ป่าชายหาด ความสูง ตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,200 เมตร
ลักษณะประจำพันธุ์
ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูง 8-12 เมตร กิ่งก้านแตกไม่เป็นระเบียบ ลำต้นมักคดงอ เปลือกนอกแตกเป็นร่องตามยาวสีน้ำตาล เปลือกในสีเหลือง ตามปลายกิ่งมักมีกาบแข็งๆหุ้ม เปลือกนอกหนาช่วยให้ทนไฟไหม้ในฤดูไฟป่าลุกลามได้ดี
ใบ ใบเดี่ยวเรียงสลับ มักเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง 2.5-5.5 ซม. ยาว 12-17 ซม. ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบแหลม ขอบใบจักฟันเลื่อยถี่ๆ ผิวใบเรียบ เส้นแขนงใบ 7-15 คู่ ไม่จรดขอบใบ ก้านใบยาว 2-3 มม.ใบอ่อนสีสนิมเหล็ก ใบแก่เขียวเหมือนแผ่นหนัง มีหูใบเล็กๆ
ดอก ออกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง ออกจากซอกใบและใกล้ปลายกิ่ง ผลัดใบหมดต้นก่อนผลิตาดอก กระจุกละ 4-8 ดอก กลีบดอกสีเหลืองสด 5-8 กลีบ เวลาบานมีกลิ่นหอม เกสรเพศผู้ 32-50 อัน ก้านชูอับเรณู ยาว 0.5-1.2 ซม. ขนาดไม่เท่ากัน วงนอกยาวกว่าวงใน อับเรณู ยาว 5-6 มม. อับเรณูมีช่องเปิดอยู่ด้านปลาย ฐานรองดอกพองนูน รูปครึ่งวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.5 มม. ขยายขนาดและมีสีแดงเมื่อเป็นผล รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ คาร์เพล 6-12 อัน แต่ละอันมี 1 ช่อง และมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียมี 1 อัน ยาว 1.2-2 ซม. ติดกับฐานของรังไข่ ปลายแยก 6-10 แฉก สั้นๆ ยอดเกสรเพศเมีย มีจำนวนพูเท่ากับคาร์เพล
ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน
ผล ผลสด แบบผลผนังชั้นในแข็ง ผลค่อนข้างกลม กว้าง 8-9 มม. ยาว 1-1.2 ซม. อ่อนสีเขียว แก่สีดำ ผิวมัน ก้านเกสรเมียคาผล กลีบเลี้ยงสีแดง เมล็ด 1 เมล็ด
การขยายพันธุ์ เมล็ดขนาดใหญ่จึงนิยมเพาะกล้าจากเมล็ด
บันทึกผู้เขียนและผู้ถ่าย
1.ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลายหนาวช้างน้าวจะทิ้งใบหมดต้น แล้วผลิตาดอกออกตามกิ่งก้านอย่างกับจัดสร้าง กลิ่นดอกส่งกลิ่นหอมชวนดม ดอกสีเหลืองช่อละ 5-8 ดอก มองเห็นสวยสดใสแต่ไกล ผมพบเขาตั้งแต่ป่าชายหาดจนถึงป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทำให้ป่าแห้งๆดูมีสีสันขึ้นทันตา สมควรนำมาประยุกต์ปลูกเป็นไม้ประดับได้อย่างสวยงาม เป็นไม้ในถิ่นกำเนิดจึงนำไปปลูกประดับในป่าอนุรักษ์ประเภทอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้
2.ปลูกเป็นพืชสมุนไพร มีสรรพคุณดังนี้คือ
เปลือกต้น แก้ปวดตา ตาเคือง
เนื้อไม้ ต้มน้ำดื่มแก้ปวดหลัง
ราก ขับพยาธิ แก้โรคน้ำเหลืองเสีย
3.ปลูกเป็นพืชอาหาร ใบอ่อนกินเป็นผักสด